Wednesday, September 14, 2011

เทคโนโลยีใหม่ๆที่ช่วยเรื่องของการมีีบุตร

            ในปัจจุบันการทำเด็กหลอดแก้วน้ันมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่าในอดีต เมื่อราวๆ 15 ปีก่อน โอกาสในการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วมีเพียงร้อยละ 10-15 ผ่านมาอีก 15 ปี ปัจจุบันโอกาสในการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วน้ันมีถึงมากกว่าร้อยละ 50 โดยสามารถสูงถึงร้อยละ 60-70 ได้ในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี โดยโอกาสในการตั้งครรภ์ที่เพ่ิมขึ้นนั้นมาจากหลายๆสาเหตุ เช่น

  • ชนิดของยากระตุ้นไข่ที่ทำให้ได้ไข่คุณภาพดีขึ้น เจ็บน้อยลง การบริหารยาที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โปรแกรมการกระตุ้นไข่ที่ไม่ซับซ้อนวุ่นวายเพื่อช่วยลดความเครียดจากขั้นตอนการรักษารวมทั้งโอกาสประสบความสำเร็จมีมากขึ้นจากความผิดพลาดที่ลดลง
  • การผลิตน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนที่ทำให้พัฒนาการของตัวอ่อนเหมือนธรรมชาติมากที่สุดเปรียบเสมือนตัวอ่อนกำลังอยู่ในโพรงมดลูก การเลือกน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนที่ตอบสนองความต้องการของตัวอ่อน
  • ระบบตู้เลื้ยงตัวอ่อนที่เหมือนมดลูกมากที่สุด เทคโนโลยีต่่างๆที่ทำให้เราสามารถตรวจสอบระบบการเลี้ยงได้ว่ามีความปลอดภัยและมีสภาพที่สมบูรณ์ดี 
  • ระบบห้อง clean room ที่ทำให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวอ่อนน้ันดีที่สุด ไม่เป็นพิษต่อตัวอ่อน
  • ความรู้ความชำนาญของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นคนผสมตัวอ่อน เลี้ยงตัวอ่อน และคัดเลือกตัวอ่อนในการย้ายกลับ
  • การนำความรู้ใหม่ๆเพ่ื่อมาพัฒนาระบบการผสมตัวอ่อนและการเลี้ยงตัวอ่อนให้ทันสมัย เนื่องจากวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นส่ิงที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกๆปี
  • การพัฒนาระบบการแช่แข็งตัวอ่อนให้เพ่ิมอัตราการรอดหลังจากละลายออกมา จะเป็นการเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้อย่างมากเนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้วจะมีตัวอ่อนที่ผสมได้มากกว่าหนึ่งตัวอ่อน ดังน้ันการเก็บแช่แข็งตัวอ่อนส่วนที่เหลือจากการย้ายไปแล้ว จะทำให้การย้ายตัวอ่อนสามารถทำได้หลายรอบโดยไม่ต้องมีการกระตุ้นไข่ใหม่

            
            ยากระตุ้นไข่   ในปัจจุบันผลิตโดยกรรมวิธีที่ทำให้ยานั้นมีความบริสุทธิ์ ออกฤทธิ์ต่อรังไข่ โดยตัวยานั้นคือ ฮอร์โมน FSH ที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตของไข่หลายๆใบพร้อมๆกัน ซึ่งธรรมชาติน้ันการเจริญเติบโตของไข่จะเกิดขึ้นเพียงหนึ่งใบ โดยคัดเลือกจากไข่ที่ถูกเกณฑ์ออกมาในรอบประจำเดือนนั้นๆซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันแรกของการมีประจำเดือน หลังจากพ้นไป 5 วันแล้ว ถ้าไข่ที่ถูกเกณฑ์ออกมาไม่ได้รับการกระตุ้น ไข่ส่วนใหญ่จะเริ่มฝ่อไป เหลือเพียงแค่หนึ่งใบที่จะเจริญออกมาเป็นไข่ที่โตเต็มที่เพียงหนึ่งใบที่กึ่งกลางรอบประจำเดือน ฮอร์โมน recombinant FSH ที่เราฉีดเข้าไปจะกระตุ้นให้ไข่ที่ถูกร่างกายเกณฑ์ออกมาน้ันเจริญเติบโตต่อโดยไม่ฝ่อไป ดังน้ันจำนวนไข่โดยทั่วไปจึงไม่ได้เกิดจากขนาดของยา FSH โดยตรง แต่เกิดจากไข่ธรรมชาติที่ร่างกายเกณฑ์ออกมา ในรายที่อายุน้อย จะมีจำนวนไข่ที่ถูกเกณฑ์ออกมาเพื่อคัดเลือกมากกว่าคนอายุมาก จึงทำให้การกระตุ้นไข่ในคนอายุน้อยได้จำนวนไข่มากกว่าคนอายุมาก ส่วนคนที่รังไข่มีไข่อยู่จำนวนไม่มาก แม้ว่าอายุน้อยก็อาจจะได้ไข่จำนวนน้อยได้เช่นเดียวกัน 
         
             ยากระตุ้นไข่รวมทั้งโปรแกรมการกระตุ้นไข่นั้น มีหลายประเภทหลายแบบ เช่นยา Puregon, Gonal F, Menopur, Follitrope แบบที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบันรวมทั้งสะดวกต่อผู้ใช้มากที่สุดนั้น เป็นสูตรการกระตุ้นโดยฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังด้วยเข็มที่มีขนาดเล็กทำให้เจ็บน้อย ร่วมกับการใช้ยากันไม่ให้ไข่ตกก่อนเวลาเก็บไข่ซึ่งเป็นยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังเช่นเดียวกัน ส่วนการพ่นยานั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือมียาฉีดกระตุ้นไข่เพียงแค่ตัวเดียวร่วมกับการพ่นยาเพื่อกันไม่ให้ไข่ตก แต่ข้อเสียคือได้ผลการกระตุ้นไข่ที่ไม่แน่นอน ซับซ้อนกว่าเนื่องจากต้องมาพ่นยาทุก 6 ชั่วโมง ถ้าลืมพ่นก็อาจจะทำให้ไข่ตกก่อนเวลา ใช้ได้ผลไม่ดีนักสำหรับรายที่กระตุ้นไข่ได้ยากหรือมีไข่น้อยหรืออายุมากหรือประจำเดือนมาไม่ค่อยตรงนัก ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการนำยากระตุ้นไข่ชนิดออกฤทธิ์ได้นาน 7 วันต่อหนึ่งเข็ม ทำให้ฉีดเข็มเดียวอยู่ได้นาน 1 สัปดาห์ ส่วนที่เหลืออาจจะฉีดเพ่ิมเติมอีก 2-3 วันทำให้เพิ่มความสะดวกมากขึ้น ซึ่งทางพญาไทศรีราชาจะได้นำมาใช้กระตุ้นไข่ประมาณปลายปี 2555 ข้อมูลเพ่ิมเติมของยากระตุ้นไข่ชนิดใหม่สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.elonva.no/HCP/elonva_in_a_flash/BenefitsofElonva/proven_efficacy/index.asp



ยากระตุ้นไข่ชนิดใหม่ชื่อยา Elonva เป็นชนิดที่ฉีดครั้งเดียวออกฤทธิ์ได้นาน 7 วันและสามารถฉีดเพิ่มเติมได้อีกเพียงแค่ 2-3 วันทำให้สะดวกต่อการใช้ เหมาะสำหรับรายที่ตอบสนองยาปกติ กระตุ้นไข่ได้ง่าย หรือมีประวัติการกระตุ้นได้ผลมาก่อนทำให้คาดกาณฑ์ผลการรักษาได้ 



            สามารถดูโปรแกรมการกระตุ้นไข่แบบดั้งเดิมที่ต้องฉีดยาทุกวันได้ที่ http://www.drsuchada.com/search/label/3.%20การทำเด็กหลอดแก้ว จากโปรแกรมดั้งเดิมใน 7 วันแรกจะถูกแทนที่ด้วยยา elonva และไม่ต้องฉีดยา แต่ยากันไข่ตกยังคงเริ่มตามปกติที่วันที่ 5 หรือ 6 ของการกระตุ้นยา และอาจจะมีการเติมยาอีกเล็กน้อย 2-3 วันหลังจากนั้นตามขนาดของไข่ที่ได้ จึงถึงเวลาของยา hCG เพื่อทำให้ไข่สุกและตก ณวันที่เรานัดวันเก็บไข่อีก 36 ชั่วโมงต่อมาหลังเดินยา hCG



ช่วง 7 วันแรก เพียงฉีด elonva หนึ่งเข็ม หลังจากนั้นวันที่ 5 ของยา จะเริ่มให้ยากันไข่ตก และนัดตรวจขนาดของไข่โดยอัลตราซาวด์และตรวจระดับฮอร์โมนในเลือด ในกรณีที่ไข่ยังไม่ได้ขชนาด จะมีการฉีดยาเติมอีกเพียงแค่ 2-3 วันเพื่อให้ไข่มีขนาดอย่างน้อย 18 mm จึงเริ่มฉีดยา hCG เพ่ิอให้ไข่สุก และนัดเก็บไข่ในอีก 36 ชั่วโมงถัดไป



            น้ำยาที่ใช้เลี้ยงตัวอ่อน   ในปัจจุบันมีมากมายหลากหลายผู้ผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวอ่อนมนุษย์ โดยส่วนประกอบภายในน้ันมีความคล้ายคลึงกับสารอาหารที่ตัวอ่อนต้องการที่พบภายในท่อนำไข่และโพรงมดลูกของผู้หญิง เนื่องจากธรรมชาติตัวอ่อนจะเจริญเติบโตจากท่อนำไข่และเดินทางมาออกมาจากท่อนำไข่และมาฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูก ในอดีตการเลี้ยงตัวอ่อนเรามักจะเลี้ยงกันเพียงแค่ 2-3 วัน ซึ่งตัวอ่อนจะมีจำนวนเซลล์เพียงแค่ 6-8 เซลล์ และย้ายตัวอ่อนในระยะนี้กันเป็นส่วนใหญ่ ตามธรรมชาติตัวอ่อนมนุษย์ในช่วงนี้จะมีการพัฒนาพันธุกกรรมเป็นของตัวเองขึ้นมา หลังจากช่วงแรกพันธุกรรมครึ่งหนึ่งจะมาจากพ่อและครึ่งหนึ่งจะมาจากแม่ เมื่อการพัฒนาพันธุกรรมของตัวอ่อนเองขึ้นมาได้สำเร็จ จึงจะเริ่มมีการถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อทำการสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโต ตัวอ่อนใดที่ผิดปกติจะไม่สามารถพัฒนาพันธุกรรมของตัวเองขึ้นมา ทำให้หยุดชะงักการเจริญเติบโตที่ระยะ 6-8 เซลล์นี้ และไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปจนกลายเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วิธีการเลี้ยงตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์เป็นวิธีการคัดเลือกตัวอ่อนวิธีหนึ่ง ทำให้โอกาสจะพบความผิดปกติของตัวอ่อนลดลงแต่ไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าตัวอ่อนที่เจริญเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์ได้นั้นจะปกติทุกตัว เนื่องจากโครงสร้างของน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนที่มีคุณภาพที่ดีมากขึ้นทำให้ตัวอ่อนที่ไม่ปกติ สามารถเจริญพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์ได้เช่นเดียวกัน ประโยชน์ของการคัดเลือกตัวอ่อนในระยะบลาสโตซีสต์มาย้ายนั้น ช่วยลดจำนวนตัวอ่อนที่จะย้ายกลับให้ลดลง เป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดการตั้งครรภ์แฝดที่มีจำนวนมากกว่าสองลงไปได้มาก ในปัจจุบันเราพบว่าการเลี้ยงตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์ทำให้อัตราการเกิดแฝดเหมือนซึ่งเกิดจากไข่ใบเดียวและอสุจิหนึ่งตัว มีสูงขึ้นกว่าธรรมชาติได้เนืื่องจากการเลี้ยงตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์อาจไปกระตุ้นให้ตัวอ่อนน้ันมีการแบ่งตัวออกเป็นสองส่วนเองตามธรรมชาติ ดังนั้นแม้ว่าย้ายตัวอ่อนเพียงตัวเดียวก็อาจเกิดแฝดธรรมชาติได้โดยเฉพาะในรายที่มีประวัติของแฝดแท้ในครอบครัว

เราเลือกน้ำยาที่ใช้เลี้ยงตัวอ่อนที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้ได้ผลการรักษาสูงที่สุด ซึ่งสามารถเลี้ยงตัวอ่อนได้ทุกระยะ รวมถึงการเลี้ยงตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์ ซึ่งทำให้
เรามีโอกาสคัดเลือกตัวอ่อนที่มีโอกาสในการฝังตัวมากที่สุดโดยจำนวนที่ย้ายเพียงแค่หนึ่งหรือสองตัวเท่าน้ัน       




            ระบบเลี้ยงตัวอ่อน ที่เสมือนมดลูกมากที่สุดน้ัน เป็นวิธีการที่ทำให้ตัวอ่อนมนุษย์มีการเจริญพัฒนาการเปรียบเสมือนอยู่ในมดลูกมากที่สุด ในปัจจุบันเราทราบแล้วว่าสารคัดหลั่งในโพรงมดลูกน้ันมีสารอาหารที่ตัวอ่อนมนุษย์ต้องการตามธรรมชาติ รวมทั้งส่ิงแวดล้อมที่ประกอบด้วยอุณหภูมิร่างกายมนุษย์ สภาวะออกซิเจนต่ำกว่าปกติ รวมทั้งความเป็นกรดด่างที่เหมือนสารในเลือด ดังน้ันตู้ควบคุมอุณหภูมิเลี้ยงตัวอ่อนจึงต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ใกล้เคียงมากที่สุด คืออุณหภูมิร่างกาย รวมทั้งภาวะออกซิเจนต่ำ ตู้เลี้ยงตัวอ่อนในปัจจุบันสามารถทำให้อากาศภายในตู้นั้นมีออกซิเจนต่ำได้โดยการเติมกาซไนโตรเจนเข้าไปเพื่อเป็นการลดเปอร์เซนต์ออกซิเจนลง ทำให้ตัวอ่อนนั้นสามารถเจริญพัฒนาได้ใกล้เคียงในมดลูก ซึ่งการเจริญเติบโตของตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์ต้องการคุณสมบัติของตู้แบบนี้ ในปัจจุบันตู้เลี้ยงตัวอ่อนมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติ ประสิทธิภาพ ราคาที่แตกต่างกัน ทางพญาไทศรีราชาโดย พญ สุชาดา ได้เลือกใช้ตู้เลี้ยงตัวอ่อนที่สามารถควบคุมปริมาณกาซแต่ละตัวได้โดยมีส่วนควบคุมแยกส่วนออกไป อีกทั้งคุณสมบัติของตู้ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ตรงที่สามารถผสมตัวอ่อนโดยวิธีเด็กหลอดแก้ว รวมทั้งการทำอิกซีไปได้ในตัว ซึ่งต้องการตู้ที่มีลักษณะที่พิเศษกว่าตู้เลี้ยงทั่วไป ซึ่งทำให้ไข่ที่ออกจากร่างกายมนุษย์น้ันไม่ถูกกระทบจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งความเป็นกรดด่างก็จะคงที่ตลอดตั้งแต่ออกจากร่างกายจนกระทั่งกลับเข้าสู่มดลูก


ตู้เลี้ยงตัวอ่อนที่เป็นที่นิยมเนื่องจากมีขนาดเล็ก การเปิดปิดสะดวก และทำให้ระบบเข้าสู่สมดุลย์ได้เร็ว ซึ่งทางพญาไทศรีราชาได้เริ่มใช้ตู้เลี้ยงตัวอ่อนชนิดนี้ตั้งแต่แรก มีข้อจำกัดบ้างคือจำเป็นต้องผสมตัวอ่อนภายนอกตู้ ซึ่งทำให้ตัวอ่อนต้องทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และความเป็นกรดด่างที่ไม่เหมาะสม ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของกรดด่างและอุณหภูมิไม่มาก ตัวอ่อนจะปรับตัวและเจริญเติบโตต่อได้ แต่กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงมากและนานเกินไป เช่นผสมตัวอ่อนเป็นเวลานานๆ ทำให้ตัวอ่อนน้ันไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้สูญเสียการเจริญพัฒนาแบบถาวร นอกจากนี้ยังพบว่าการปรับระบบเลี้ยงเพื่อให้เข้ากับน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนแต่ละชนิดน้ันไม่สามารถทำได้เหมือนตู้เลี้ยงตัวอ่อนรุ่นใหม่ๆ

ปัจจุบัน ทางพญาไทศรีราชา ได้เปลี่ยนเป็นตู้เลี้ยงตัวอ่อนแบบใหม่ ซึ่งทำหน้าที่ทั้งผสมตัวอ่อนได้ในตัว อีกทั้งมีบริเวณแยกส่วนไว้สำหรับเลี้ยงตัวอ่อนโดยเฉพาะ ทำให้ตัวอ่อนน้ันไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการพัฒนาการและการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนที่มีคุณภาพสูงกว่าการเลี้ยงแบบเดิม

ตู้เลี้ยงตัวอ่อนอีกหนึ่งตู้ซึ่งสามารถผสมตัวอ่อนแบบเด็กหลอดแก้วได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องนำไข่ออกนอกตู้เพื่อมาผสมภายนอก ทำให้การเจริญพัฒนาของตัวอ่อนนั้นไม่หยุดชะงัก และมีการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนเกรดที่ดีได้มากกว่าตู้เลี้ยงแบบเดิม

            ยังมีต่อค่ะ ติดตามต่อนะคะ







No comments:

Post a Comment